สองตอนที่แล้วผมคิดว่าคุณคงเริ่มติดตั้งและมองเห็นภาพคร่าวๆของ WooCommerce กันแล้วนะครับ รายละเอียดอื่นๆยังไม่ต้องไปยุ่งกันตอนนี้ ทำตามไปเรื่อยๆครับ ต้องการปลั๊กอินอะไรเพิ่มเติมผมจะแนะนำคุณเมื่อถึงเวลา ทำไปเรียนไปพร้อมกันได้เลยครับ
อ่อ อีกอย่างคุณไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องธีมมาก คุณใช้ธีมอะไรก็ได้ที่อยู่ในหมวด eCommerce ซึ่งธีมรุ่นใหม่จะใช้ได้กับ WooCommerce เสียเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ธีมไม่ใช่เรื่องสำคัญนะครับ ความเข้าใจขั้นตอนพื้นฐานของ WooCommerce สำคัญกว่า ผมไม่อยากให้คุณไปติดอยู่กับธีมที่หรูหรา(หมายถึงธีมซื้อ) เพราะจะทำให้คุณเสียสมาธิไปกับการทำความเข้าใจกับธีมนั้นมากกว่าทำความเข้าใจกับ WooCommerce ครับ
ตอน Add Themes ให้คุณหาธีมจากคีย์เวอร์ด ecommerce (lite) หรือ shop (lite) อะไรทำนองนี้มาสักตัวครับ (คำว่า lite หมายถึงธีมที่มีเครื่องเคราไม่เยอะมาก เหมาะกับคนที่ถนัด customize) ธีมที่ผมจะใช้ในบทความนี้คือ Easy Shop ครับ เป็นธีมสำหรับ WooCommerce แบบพื้นๆ (ถ้าคุณใช้ธีมอะไรอยู่ก็ไม่ต้องเปลี่ยนครับ โดยหลักการแล้วใช้ได้เหมือนกัน)

รายละเอียดการ customize ธีมนี้ยังไม่ต้องไปสนใจ จริงๆก็ไม่มีอะไรให้เซตมาก ตอนนี้เรามาเริ่มใส่ข้อมูลสินค้ากันเลยครับ
เริ่มจากการใส่หมวดหมู่สินค้า Category
ที่ผมแนะนำให้เริ่มจากตรงนี้ก็เพราะว่าก่อนที่คุณจะเปิดร้านออนไลน์ สิ่งที่สำคัญก็คือตัวข้อมูลสินค้า แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “หมวดหมู่ของสินค้า” ซึ่งเป็นการบ้านข้อแรกที่คุณจะต้องทำก่อนที่จะเปิดร้านออนไลน์ ในร้านค้าของผม สมมติว่าผมขายทุกอย่าง ผมได้ข้อสรุปแล้วว่าผมมีสินค้าที่จะขายอยู่ 8 หมวดครับ

สิ่งแรกที่ต้องทำคือเอาหมวดสินค้าทั้งหมดไปใส่ใน Products -> Categories ซึ่งจะใส่เหมือนๆกับคุณใส่ประเภทของ post นั่นแหละครับ แบบเดียวกันเลย
ใส่ข้อมูลกำกับให้กับสินค้าแต่ละประเภท
สินค้าแต่ละประเภทจะมีธรรมชาติไม่เหมือนกันใช่ไหมครับ อย่างเช่น เสื้อเชิ๊ตกับชุดว่ายน้ำจะมีไซส์ S, M, L หรือหนังก็จะมีประเภทเป็น ไซไฟ, หนังรัก, สยองขวัญ เป็นต้น ข้อมูลที่กำกับไปกับสินค้าแต่บะหมมวดนี้เรียกว่า Attribute ครับ (ขอทับศัพท์นะครับ) ซึ่งจะต้องเตรียมไว้ก่อนแล้วจึงนำไปใส่ในเมนู Products -> Attributes การใส่ก็เหมือนกับใส่ category ส่วน attributes ใดจะไปผูกอยู่กับหมวดหมู่อะไรนั้นเราจะไปทำกับข้อมูลสินค้านั้นๆครับ ในตอนนี้ผมจะใส่ attribute แค่สามตัวตามนี้ครับ

ตามรูปตัวอย่างผมสร้าง attribute ชื่อ “ประเภทหนัง” ให้มีข้อมูลอยู่สามตัวคือ รักโรแมนติค, สยองขวัญ และ ไซไฟ และ attribute ชื่อ “ขนาดสินค้า” กับ “ขนาดสวมใส่” ข้อมูลที่ใส่ก็ตามรูปนะครับ
ข้อมูลกำกับสินค้าหรือ attribute นี้เราไปตั้งตอนที่เราใส่ข้อมูลสินค้าก็ได้ครับ แต่ผมแนะนำให้คุณวางแผนล่วงหน้าและใส่ในตรงนี้ตั้งแต่ต้นจะดีกว่า เพราะจะทำให้ดูเป็นระบบมากกว่า
เริ่มใส่ข้อมูลสินค้า
คราวนี้มาเข้าที่ข้อมูลสินค้ากันเลยครับ Products -> Add New ทำเหมือนเขียนโพสต์ครับ ไตเติ้ลก็คือชื่อสินค้า และเนื้อหาก็คือรายละเอียดสินค้า ต่างกับโพสต์ตรงที่ในหน้าเขียน product จะมีช่องให้ใส่ข้อมูลมากขึ้น เช่น ราคา ส่วนลด รวมทั้ง attribute ที่กล่าวถึงก่อนหน้า

ในช่องถัดไปก็คือช่องสำหรับใส่ข้อมูลอื่นๆครับ

ข้อมูลประกอบสินค้าจะถูกจัดหมวดหมู่ไว้เป็นแท็ปครับ ให้คุณลองคลิกตรง Product Data จะสังเกตเห็นว่าแท็ปเปลี่ยนไป อันนี้เขาทำไว้ไม่ให้รกตา เลยจัดทำแท็ปเป็นหมวดหมู่ให้เราเลือกเอาเฉพาะกลุ่มแท็ปที่เราใช้

ตอนนี้เราจะสนใจเฉพาะกลุ่มพื้นฐานคือ Simple product ก่อนครับ แท็ป General ตามรูปข้างบนสำหรับใส่ราคาและส่วนลด

แท็ปต่อไปคือ Inventory ใส่สำหรับใส่รหัสสินค้า (SKU) ซึ่งควรจะตั้งนะครับ ไม่ว่าสินค้าของคุณจะมีมากมีน้อยเพราะมีประโยชน์ในระยะยาว
ถ้าคุณคลิกถูกตรง Enable stock manament at product level จะมีช่องให้คุณใส่จำนวนในสต็อคที่คุณมี ตามตัวอย่างคือ 3 หน่วย

ซึ่งกรณีนี้ WooCommerce จะจัดการสต็อคให้คุณ โดยในช่อง Allow backorders คุณจะต้องเลือกว่าถ้าสินค้าขายไปจนหมดจำนวนในสต็อคที่ระบุแล้วผู้ซื้อสั่งซื้อเข้ามาจะทำอย่างไร Do not allow คือไม่ยอมให้มีการสั่งซื้อลงตระกร้า(หรือไม่โชว์ตระกร้า-แล้วแต่ธีม), Allow but notify customer คือยอมแต่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบ, Allow คือยอมให้มีการสั่งซื้อปกติ แต่คุณจะรู้ว่าสินค้าขาดสต็อคจากหน้า dashboard

แต่ถ้าคุณไม่คลิกจะถือว่าคุณต้องการจัดการสต็อคเอง โดยคุณจะต้องเลือกสถานะของสต็อค (Stock status) เองว่าตอนนี้มีของอยู่ในสต็อค (In stock), ขาดสต็อค(Out of stock) หรือต้องรอสั่งของ(On backorder) สถานะของสต็อคจะแสดงในหน้า shop และหน้าตระกร้า (ขึ้นกับธีมด้วย)

คลิกที่ Enable this to allow…. จะบังคับว่าสินค้าตัวนี้สั่งซื้อได้เพียง 1 ชิ้นต่อหนึ่งออร์เดอร์

ในแท็บ Shipping จะใช้สำหรับใส่นำหนักและขนาดของสินค้า สังเกตหน่วยว่าเป็น kg และ in(นิ้ว)ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นไปตามที่เซตใน WooCommerce -> Settings แท็บ Products ส่วน Shipping class เกี่ยวกับการส่งสินค้า จะกล่าวถึงต่อไป ตอนนี้ปล่อยไปตามรูปก่อน

ในแท็บ Linked Products หมายถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกัน

Upselles หมายถึงสินค้าที่คุณอยากจะแนะนำแทนสินค้าตัวนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสินค้าที่ใหม่กว่าหรือราคาถูกกว่า ให้คุณพิมพ์ชื่อสินค้าตัวนั้นสัก 3 ตัวขึ้นไปโปรแกรมก็จะค้นหาให้ คุณใส่ได้หลายตัว และจะไปปรากฏในหน้าสินค้านั้น คุณอาจจะชื่นชอบ…

Cross-sells หมายถึงสินค้าที่คุณจะแนะนำโดยจะไปปรากฏอยู่ในหน้าตระกร้าสินค้าให้อัตโนมัติ สมมติว่าในช่อง Cross-sells คุณใส่สินค้า Prestige Records เข้าไป พอคนซื้อเข้าไปในหน้าตระกร้าสินค้า สินค้าตัวนี้ก็จะถูกแนะนำ คุณอาจสนใจ… ตามรูป

ได้เวลาใช้ Attributes
ตอนนั้นผมแนะนำให้คุณสร้างข้อมูลกำกับสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาเอามาใช้แล้วครับ เมื่อคุณคลิกเลือกประเภท attribute ก็จะปรากฏรายการที่สร้างไว้ ตอนนี้สินค้าของเราคือหนังเรื่อง Last Song จึงเลือก attribute “ประเภทหนัง” ที่เราสร้างเตรียมไว้ แล้วกดปุ่ม Add

คลิกตรง Values เพื่อเลือกประเภทหนังเป็น “รักโรแมนติค” คุณอาจจะเพิ่ม “สยองขวัญ” ไปด้วยก็ได้ (สมมติ) แล้วกด Save attributes

เมื่อดูหน้าสินค้าจะเห็นว่ามีแท็บเพิ่มขึ้นมา

สุดท้ายคือแท็บ Advance ใส่ข้อมูลประกอบการซื้อที่จะแจ้งให้ผู้ซื้อทราบเฉพาะสินค้าตัวนี้ เลื่อนตำแหน่งของสินค้านี้ กับยอมให้มีการรีวิวสินค้านี้หรือไม่

สรุป
ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนครับ ยังมีแท็บอื่นๆที่ต้องเซตอีก ในตอนนี้เราดูเฉพาะใน Simple product ซึ่งถ้าคุณไม่มีระดับราคาหรือเงื่อนไขอะไรซับซ้อนก็น่าจะพอใส่ข้อมูลสินค้าได้หมดแล้ว ถ้างั้นก็รอตอนหน้าครับ